7 ข้อดีของการเข้าใจลูกค้า

7 ข้อดีของการเข้าใจลูกค้า

วันนี้ Insight จะชวนมาดูว่า เป้าหมายที่แท้จริงจากการเข้าใจลูกค้ามันหน้าตาเป็นอย่างไร เรามาตั้งต้นกันก่อนถึงข้อดีของการเข้าใจลูกค้า เพราะมันจะส่งผลถึงการดำเนินธุรกิจในทุกๆ ด้านของคุณ และส่งผลถึงผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย นอกจากนี้ธุรกิจของคุณจะเติบโตแบบก้าวกระโดดและไม่มีวันตาย แถมเจ้าของก็สบายขึ้นด้วย

1. สร้างยอดขายจากลูกค้าเก่า

เมื่อมีลูกค้าเก่าอยู่ในมือ จะเสียเวลาหาลูกค้าใหม่เรื่อยๆ ไปทำไม ในเมื่อเขารู้จักคุณแล้ว มีประสบการณ์ในการใช้สินค้าจริงแล้ว ทำไมไม่สร้างยอดขายกับลูกค้ากลุ่มนี้ บางแบรนด์มัวแต่ยิงแอด หาลูกค้าใหม่อยู่เรื่อย แอดมินก็ตอบแชทวนอยู่แบบนั้น ใช้แรงงาน ใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงโดยไม่หันมาใส่ใจลูกค้าเก่าเลย

2. สร้าง Loyalty Customer

เชื่อว่าทุกธุรกิจต้องการลูกค้าระดับ Loyalty Customer ลูกค้าที่รักคุณ ไม่หนีไปจากแบรนด์คุณแม้จะมีคู่แข่งวิ่งเข้ามา และลูกค้ากลุ่มนี้จะออกมาปกป้องแบรนด์ เมื่อเจอการ discredit ด้วยซ้ำ แต่การสร้าง Loyalty Customer ก็ไม่ง่าย ต้องใช้หลายองค์ประกอบเลยทีเดียว ทั้งการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ การดูแลหลังการขายแบบเหนือความคาดหวังของลูกค้า

3. พัฒนาการดูแลลูกค้า

การเข้าใจลูกค้า เริ่มจากการดูแลลูกค้าที่ดี คำว่าดีในที่นี้ไม่ใช่แค่ดีตามความคาดหวังของลูกค้า แต่ดีอย่างเหนือความคาดหวัง ดีจนต้องร้อง ว้าว!! ออกมาให้ได้ นี่จึงเป็นการทำให้ลูกค้ารักและจดจำ ดังนั้นต้องลองวิเคราะห์ออกมาว่า ลูกค้าต้องการการดูแลจากเราอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เขาต้องการการช่วยเหลือ และมีมุมไหนที่เราช่วยให้ลูกค้าสะดวกขึ้น สบายขึ้น และมีชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากที่เจอเรา

4. พัฒนาสินค้าใหม่

ยิ่งเข้าใจลูกค้า จะมีมุมใหม่ๆ ให้เราได้พัฒนาธุรกิจของเราเสมอ แม้กระทั่งการพัฒนาสินค้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเอาสินค้า/บริการ เดิมมาพัฒนา หรือจะสร้างขึ้นมาใหม่เลยก็ได้ แต่แน่นอนเราทำเพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าของเราเป็นที่ตั้งนั่นเอง

5. ขายสินค้าใหม่ได้ไว จากการขายให้ลูกค้าเก่า

อย่าเพิ่งผลิตสินค้า/บริการใหม่ออกมา จนกว่าจะมั่นใจว่าขายได้ เอ้า! แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าขายได้? ก็จากการสอบถามลูกค้าเก่านี่แหละ ก่อนจะผลิตมาขายก็ถามๆ ลูกค้าไปว่า ถ้ามีสินค้า/บริการแบบนี้ออกมาให้คุณพี่เลือกใช้จะสนใจไหม เป็นการสำรวจตลาดคร่าวๆ ก่อน และถ้าเสียงตอบรับไปในทางที่ดี ก็อย่าลืมมาเสนอขาย Pre-sale กับลูกค้าเก่ากลุ่มนี้ด้วยล่ะ

6. รู้กลุ่มเป้าหมาย ยิงแอดตรงกลุ่ม

ยิ่งเข้าใจลูกค้า รู้ชัดว่าใครคือลูกค้าของเรา เราขายสินค้านี้เพื่อใครจริงๆ แบบนี้กลุ่มเป้าหมายก็ยิ่งแคบลง เจาะจงได้ชัดมากขึ้น จะทำการตลาดก็ง่ายทันที ทั้งการสื่อสารผ่าน Sale Content ให้น่าอ่าน, การทำรูปภาพให้สะดุดตาสะดุดใจ แม้กระทั่งการยิงแอดก็ง่ายขึ้น ลดความปวดหัวกับการหว่านยิงหลายกลุ่มเป้าหมาย และการเสียค่าแอดไปกับแคมเปญที่ไม่ใช่ insight ของเรา

7. สร้าง Business Model ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย

ถ้ารู้จักรู้ใจลูกค้าจริงๆ เราจะรู้ insight ลูกค้าของเราว่ามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไหน ชอบ/ไม่ชอบอะไร หรือแม้กระทั่งรู้ว่าพวกเขาชอบถูกขายแบบไหนด้วย การสร้าง Business Model ที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายจะไม่ยากอีกต่อไป เช่น ร้านขายยำหน้าโรงเรียน เปลี่ยนจากบรรจุใส่กล่องมาใส่แก้วพลาสติก เพราะเด็กนักเรียนสะดวกถือเดินกินมากกว่า และจับถนัดมือตอนนั่งรถมากกว่า เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เมื่อธุรกิจรู้และเข้าใจลูกค้าและต้องการยึดลูกค้าเป็นคนสำคัญจริงๆ การดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนไปทันที ตั้งแต่การผลิต การขาย การดูแลลูกค้า เพราะเรารู้ชัดว่าเราขายใคร ลูกค้าต้องการอะไรจากเรา ตลอดจนการดูแลใส่ใจให้เขาเป็นคนพิเศษจนไม่อยากหนีจากเราไป ดังนั้นแล้วมาตามหา insight ของลูกค้ากันนะครับ

วิธีการสร้าง Insight ง่ายๆ จากการเข้าใจลูกค้า

วิธีการสร้าง Insight ง่ายๆ เพื่อสร้างการเข้าใจลูกค้า

เมื่อเราดำเนินธุรกิจไประยะเวลาหนึ่ง จนเกิดปัญหาว่า 

  • ทำไมไม่มีลูกค้ามาซื้อซ้ำเลย 
  • ทำไมถึงเหนื่อยกับการหาลูกค้าใหม่เรื่อยๆ
  • ทำแล้วไม่รู้ว่า กลุ่มลูกค้าคือใคร
  • ยิงโฆษณาแล้วแป๊กบ่อย
  • อยากปรับวิธีการขาย แต่ไม่รู้จะปรับยังไง
  • สินค้าเดิมไม่มีคนซื้อแล้ว

นี่คือสัญญาณที่ธุรกิจของเราควรกลับมาค้นหา Insight พฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างจริงจัง เพื่อเข้าใจลูกค้าของคุณ

“ถ้าคุณยึดมั่นในสินค้า ธุรกิจคุณจะเจ๊ง
แต่ถ้ายึดมั่นในลูกค้า ธุรกิจคุณจะไม่มีวันตาย”

3 ขั้นตอนการค้นหาความต้องการของลูกเชิงลึก

เอาลูกค้าคนสำคัญเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ และขับเคลื่อนธุรกิจจากการนั่งในใจของลูกค้า 

1. เตรียม Script ข้อคำถามและลำดับการโทรสัมภาษณ์ลูกค้า

ตรงนี้ขอแนะนำเป็นการโทร เพราะเราจะเข้าใจ Emotion ของลูกค้าด้วยน้ำเสียง และรู้สึกใกล้ชิดมากขึ้นด้วย

2. นัดแนะ วัน&เวลา กับลูกค้าสักหน่อย

อาจจะทักไปทางไลน์ส่วนตัว ว่าเราจะขอโทรหาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือสัมภาษณ์ควาสรู้สึกหลังใช้ เพราะเดี๋ยวนี้มีมิจฉาชีพและเบอร์แปลกเยอะ เราอาจกลายเป็นมิจในสายตาลูกค้าก่อนที่จะเป็นมิตรในระยะยาว

3. ตัวอย่างบทสัมภาษณ์ลูกค้าเก่า

จากตัวอย่าง ข้อ 6 นี่สำคัญเลย อย่าให้การโทรแต่ละครั้งไม่มีโอกาสปิดยอดเชียว ลองเตรียมโปรโมชั่นดีๆ สำหรับลูกค้าแต่ละคนเอาไว้ จะเป็นสินค้า/บริการที่เขาเคยใช้ หรือเป็นของใหม่ที่น่าโดนใจ จัดมาพิเศษสำหรับลูกค้าแต่ละรายไปเลย

แนวทางการตั้งคำถาม 4 ประเภท เพื่อเจาะหา Insight ลูกค้า

1. Hour in Life

– คำถามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

2. Action to Buy

– มองหาโอกาสในการซื้อ

3. Key Success Factor

– หาปัจจัยที่ทำให้เขาซื้อ

4. Attraction Formula

– หาแบรนด์ในอุดมคติของเขา

ต้องเข้าใจ จึงจะได้ใจ
เมื่อทำให้โดนใจ ก็อยู่ในใจลูกค้า
แบบนี้ Brand Royalty เกิดขึ้นได้ ไม่ยากเลย!!

อย่าใช้แบบสอบถาม เพื่อการหา Insight

อย่าใช้แบบสอบถาม เพื่อการหา Insight

อยากรู้ว่า ลูกค้าคิดยังไงกับการใช้สินค้า/บริการของเรา

อยากรู้ว่า ทำไมลูกค้าถึงเลือกซื้อเรา

อยากรู้ว่า ลูกค้ามีประสบการณ์อย่างไรกับการขายของเรา

อยากรู้ว่า มีอะไรที่ต้องพัฒนาต่อ

อย่า!! ใช้แบบสอบถาม เด็ดขาดดดด

เชื่อว่า มีหลายธุรกิจมากๆ ที่อยากมีปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าหลังบริการขาย แต่ดันใช้ฟอร์มแบบสอบถาม ให้ลูกค้าเลือกระดับความพึงพอใจ และให้พิมพ์กรอกข้อเสนอแนะอื่นๆ ซึ่งส่วนมากเป็นการติ๊กความพึงพอใจแบบส่ง ๆ ส่วนข้อเสนอแนะก็เว้นว่างเอาไว้ เจอแบบนี้พูดตรง ๆ ว่า เราแทบไม่ได้อะไรกลับมาจากแบบสอบถามนี้เลย

การโทรหา สร้าง insight ได้ดีที่สุด

วิธีการที่ได้ข้อมูลแบบลงลึกจากลูกค้า จะเป็นการโทร แน่นอนว่าจะเสียเวลา เสียเงิน และอาจต้องใช้  Admin ดี ๆ สักคนในการทำงานนี้ แต่เราจะรู้ทุกอย่างจากลูกค้าได้ทันที คุยสั้น ๆ แต่บอกหมด รู้ถึงว่าเขามาซื้อเรา เพราะต้องการอะไร เช่น ซื้อคอลลาเจน ไม่ได้อยากผิวสวยขาวออร่า แต่อยากฟิ้นฟูผิวโทรมจากการทำงานดึก เมื่อเรารู้ทุกพฤติกรรมลูกค้าได้หมด ก็สามารถสร้าง Sale Content อื่นต่อ มีแคมเปญต่อไป เพื่อพัฒนาการสร้างยอดขาย หรือบางทีคุย ๆ กัน ลูกค้าอาจ Re-order ด้วยซ้ำ

ลูกค้า VS สินค้า อะไรคือสินทรัพย์สำคัญของธุรกิจ

ลูกค้า VS สินค้า อะไรคือสินทรัพย์สำคัญของธุรกิจ

มองย้อนกลับไปในสมัยทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ 10 ปีที่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ในอดีตกลัว ก็คือการเจอคนอื่นมาก็อปปี้สินค้า จากที่ขายอยู่ดี ๆ ดันมีคู่แข่งขึ้นมา หรือเจอตัวแทนเก่ง ๆ ก็อปสินค้าของเราไปขายในช่องทางของเขาเอง แล้วก็ไม่รับสินค้าเราไปขายต่อแล้ว ยอดขายหล่นฮวบไปดื้อ ๆ เรียกได้ว่า “สินค้า” คือหนึ่งในหัวใจหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจเลยทีเดียว 

สินค้า/บริการ แบบเดียวกัน องค์ประกอบภายในเหมือนกัน โรงงานผลิตแหล่งเดียวกัน แต่!! คนละยี่ห้อ คนละแบรนด์ คนละราคา มีเกลื่อนให้เห็นไปทั่ว สงครามราคาเริ่มปะทุอย่างหนัก ใครสู้ไม่ไหวก็แพ้ไป บางแบรนด์ถึงขั้นต้องเพิ่มสินค้าเข้ามาเพื่อเข้าสู้ศึกอีกครั้ง แต่การเปลี่ยนสินค้าบางรายก็สูญเสียภาพลักษณ์แบรนด์แบบเดิมไป และการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบางแบรนด์ก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต เหมือนเปลี่ยนจากลูกเป็ดเป็นหงส์ หรือลดเกรดจากหงส์สู่ลูกเป็ดกันเลยทีเดียว

ในทุกวันนี้สินค้าออกใหม่เยอะ ราคาก็ถูกลงเรื่อยๆ สงครามราคาก็มีให้เห็นได้ทุกแฟลตฟอร์ม แรก ๆ เห็นแค่เจ้าเล็ก หลัง ๆ เจ้าใหญ่ก็ลงมาเล่นด้วย แบบนี้เห็นคำตอบชัดเจนมากว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้

ถ้าอยากออกจากสงครามราคา

ถ้าอยากมีจุดยืนในธุรกิจที่ทำ

ถ้าอยากขายลูกค้าได้ตลอด สร้างยอดขายซ้ำ

ถ้าอยากสร้างให้ธุรกิจไม่มีวันตาย

ต้องกลับมามองที่ “ลูกค้า”

แน่นอนว่า ลูกค้าคือคนที่เอาเงินมาให้เรา ยิ่งเข้าใจลูกค้ามากเท่าไหร่ เงินก็ยิ่งวิ่งเข้าหาเรามากเท่านั้น ทุกตลาด ทุกอุตสาหกรรม มีความต้องการของผู้บริโภคที่รอให้เราค้นหาคำตอบอยู่เสมอ

เช่น ธุรกิจ Jewelry ราคาประหยัด เขาได้คำตอบมาว่า มีคนอีกมากที่อยากเข้าถึง Jewelry แต่ด้วยราคาที่สูง ทำให้ไม่สามารถจับต้องได้ เขาจึงออกแบบตัวเรือนที่ราคาถูกลง มีลวดลายใหม่ ๆ สวย ๆ มาให้เลือกได้เรื่อย ๆ สร้างยอดขายร้อยล้านได้สบาย เพราะเขาตอบโจทย์ออกว่า ลูกค้าต้องการอะไรจาก Jewelry และมีช่วงนึงที่โดนปิดเพจที่มียอดติดตาม 5 แสนกว่าไป ก็ยังมีลูกค้าติดต่อซื้อ Jewelry จากเขาอยู่ การฟื้นตัวสร้างเพจใหม่ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขาเลย

นี่แหละการขายที่เข้าใจ “ลูกค้า” อยากชวนหาให้เจอว่าธุรกิจที่ทำอยู่สามารถตอบโจทย์มุมไหนของลูกค้าได้อีกบ้าง

ถ้ายึดติดใน “สินค้า” คุณจะเจ๊ง

แต่ถ้ายึดติดใน “ลูกค้า” คุณจะอยู่รอดและไม่มีวันตาย

5 Level รู้ข้อมูลลูกค้าสร้าง insight ที่ยั่งยืน

5 Level รู้ข้อมูลลูกค้าสร้าง insight ที่ยั่งยืน

ธุรกิจของคุณเคยเก็บข้อมูลลูกค้าบ้างไหม? 

ลูกค้าเคยบอกอะไรคุณบ้าง? 

คุณรู้หรือไม่ว่า ลูกค้าต้องการอะไรจากคุณ?

ถ้าคุณได้ลองยกหูโทรศัพท์คุยกับลูกค้าดู คุณจะ…โอ้โห!! เพราะสิ่งที่ลูกค้าบอกคุณ อาจเป็นแสง

สว่างจากปลายอุโมงค์ที่คุณพยายามค้นหาคำตอบมานานว่า คุณค่าของธุรกิจคุณคืออะไร และถ้าอยากพัฒนาธุรกิจต้องทำอะไรบ้างนั่นเอง

วันนี้ Insightist เลยอยากชวนมาดู Level การเก็บข้อมูลของลูกค้าเมื่อเราจะทำการล้วง Insight เพื่อกลับมาพัฒนาสินค้า/บริการ เราต้องรู้อะไรจากลูกค้าบ้าง และอยากให้ธุรกิจของเราเปลี่ยนแปลง ต้องรู้ชัดถึง Level ไหน

5 level เก็บ Insight เพื่อสร้างบริการที่ดี

Level 1 : ข้อมูล

เป็นการเก็บข้อมูลดิบ หรือชุดข้อมูลหลักจากลูกค้า เช่น ลูกค้าที่มาใช้บริการแต่ละวัน มีกี่คน เพศอะไร เวลาไหนคนมาเยอะสุด วันไหนขายดีที่สุด สินค้าไหนเป็นที่นิยม หรือถ้าจะถามลูกค้า ก็ถามข้อมูลทั่วไป เช่น อายุ เมืองที่อยู่ รสนิยม ความชอบ 

Level 2 : จับต้องได้ 

นิยามให้ได้ว่า ลูกค้าต้องการบริการที่ดี ดีอย่างไร? ถ้าลูกค้าบอกว่าสินค้าแพง แพงกว่าใคร? เพื่อเจอ Benchmark ในการพัฒนาธุรกิจต่อนั่นเอง

Level 3 : รู้ Why

รู้เหตุผลให้ได้ว่า บริการไม่ดีเป็นอย่างไร ลูกค้ารู้สึกอย่างไรหลังซื้อสินค้า/บริการจากเราไป เพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่ลูกค้าซื้อ และไม่ซื้อ ตรงนี้ผมขอแนะนำให้ถามลึกขึ้นโดยใช้เทคนิค 5 Why 

Level 4 : Root Cause

รู้ว่าลึกๆ แล้วลูกค้าต้องการอะไร เช่น มาซื้อคอลลาเจน ไม่ได้ต้องการผิวสวย แต่อยากลดอาการปวดเข่า และที่อยากหายปวดเข่า เพราะไม่อยากเป็นภาระลูกหลานหรือคนที่รัก เป็นต้น ถ้าเข้าใจอาหารใจตามหลักจิตวิทยา จะค้นพบว่าเบื้องหลังของความต้องการซื้อนั้น ลูกค้าอยากได้อะไรบางอย่างที่สามารถเติมเต็มความรู้สึกภายในของเขา และถ้าเขาคิดว่าสิ่งนี้ช่วยได้ เขาจะยินดีจ่ายโดยไม่ลังเล

Level 5 : Impact

เมื่อได้ข้อมูล Insight กลับมา ก็นำสู่กระบวนการพัฒนาธุรกิจ เพื่อสร้าง Impact ในลำดับต่อไป

สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs ผมจะแนะนำให้ทำถึง Level 3 ในเบื้องต้นไปก่อน หากเราเข้าใจการเก็บข้อมูลแล้ว จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นำมาใช้งานได้ และจะได้สิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ เห็นจุดที่ลูกค้ามี Feedback ที่ลึกขึ้นนั่นเอง

5 ยุคการเปลี่ยนผ่านของการเลือกซื้อของ

5 ยุคการเปลี่ยนผ่านของการเลือกซื้อของ

ทำไมลูกค้าถึงยังไม่ซื้อของคุณ 

5 ยุคการเปลี่ยนผ่านของการเลือกซื้อของ

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน 

การใช้ชีวิตลูกค้าเปลี่ยน 

มุมมองลูกค้าเปลี่ยน 

พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเปลี่ยนไป

คุณจะขายแบบเดิมอยู่ไหม?

คุณจะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด?

และวิธีขายของคุณล้าหลังอยู่หรือเปล่า?

Insightist จะชวนมาดู 5 ยุคการเปลี่ยนผ่านของการเลือกซื้อของลูกค้า

1. ยุค Functional Benefits

หากเราย้อนไปในสมัยที่มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์ยุคแรก ๆ 10-15 ปีก่อน บางคนอาจต้องเปิดคอมพิวเตอร์ซื้อจากเว็ปที่มีการขายของต่าง ๆ อยากได้อะไรก็เริ่มจาก Search Google เจอเว็ปที่ถูกใจก็หยิบลงตะกร้า เดินไปโอนเงินที่ตู้ ATM หรือธนาคาร ตอนนั้นจะแนบสลิปก็ถึงขั้นต้องส่ง Email กันเลยทีเดียว หรืออาจต้องระบุวัน เวลา และธนาคาร ตามสลิปโอนเงิน

พูดมาขนาดนี้ คงนึกย้อนไปไกลน่าดู แต่การตลาดในสมัยนั้นใช้คำโต้ง ๆ มาขายกันเลย เช่น ใช้ครีมตัวนี้แล้วจะขาว, กินสมุนไพรกระปุกนี้ผอม 5 โล ใน 1 เดือน, อยากลดน้ำหนัก 10 โล กินชุดนี้ 2 กระปุก ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นการขายด้วย Function บางอย่างให้คนเลือกซื้อโดยไม่มีตัวกรอง ไม่มีการเปรียบเทียบอะไรมากมายนัก แถมคำที่ใช้โฆษณาก็ดูรุนแรง ดู Overclaim ไปเสียหมด

ช่วงหลัง ๆ อ.ย. ก็เข้ามามีมาตรการและบทบาทมากขึ้นกับการปิดแบรนด์บางแบรนด์ไป กับการโฆษณาเกินจริงจนเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค มีการกำหนดชัดเจนว่า คำไหนห้ามใช้ในการโปรโมทขายสินค้า เช่น 100%, เห็นผลจริง, ไม่มีผลข้างเคียง, ปลอดภัย, ดีที่สุด, หนึ่งเดียว, เห็นผลเร็ว เป็นต้น

2. ยุค Relational Benefits

เมื่อในตลาดออนไลน์มีผู้ค้ามากขึ้น การต่อสู้กันให้เป็นที่ดึงดูดลูกค้าเข้าร้านจึงมีมากขึ้น เมื่อสินค้าใกล้เคียงกัน กลุ่มเป้าหมายคล้ายกัน สิ่งที่ทำให้ดึงดูดคนเข้าร้านไม่ใช่แค่คำโปรโมทขายหรือโปรโมชั่น แต่เป็นรีวิวประกอบนั่นเอง ยุคนี้จะเห็นรูปรีวิวเกลื่อนไปทั่ว กินยาตัวนี้ผอมจริง รีวิว 100+, ใช้แล้วขาว ผิวดีขึ้น จากผู้ใช้จริง 1,000+ พร้อมแค็ตตาล็อครูปรีวิวให้ดูนับไม่ถ้วน ยิ่งรีวิวเยอะ ยิ่งรูปเยอะ ยิ่งน่าเชื่อถือ และขายดี!! 

นอกจากนี้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ จะพุ่งไปที่ความสวยงาม เราจะเห็นดารา เห็น Presenter ถือสินค้า ถ่ายรูปโปรโมทกันให้ควัก เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของสินค้าความสวยความงาม สกินแคร์ อาหารเสริมกันเลยทีเดียว

การตลาดในยุคนี้เริ่มสิ้นสุดลงเมื่อมีเจ้าของแบรนด์สินค้าถูกจับกุม ข้อหาผลิตสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน ใส่สารอันตรายบางประเภทลงไป พวกดารา และ Presenter ที่ถือสินค้าลง IG ก็ถูกตำรวจเรียกตัว จนเป็นข่าวใหญ่โต นับได้ว่าเป็นยุคที่ผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวในการหาข้อมูลของสินค้ามากขึ้น และสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานก็เริ่มปิดตัวเองลงไปตามระเบียบ

3. ยุค Emotional Benefits

ยุคการตลาดออนไลน์ที่เริ่มหันมาสร้าง Content คุณภาพ ใส่ใจภาพลักษณ์แบรนด์มากขึ้น เริ่มใส่ใจผู้บริโภคโดยเริ่มจากค้นหา Customer Avatar ค้นหากลุ่มเป้าหมายที่ใช่ ลูกค้าที่ต้องการเป็นคนแบบไหน อายุเท่าไหร่ อาศัยที่ไหน ตลอดจนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เพราะเมื่อยิง Sale Content ไป ลูกค้าจะเริ่มมองว่า สิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไรบ้าง สินค้านี้เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร เมื่อเห็นว่า ใช่!! ตอบโจทย์ได้จริง จึงเลือกซื้อ

จากการขายเฉย ๆ สู่การสร้างตัวตน เราจะเริ่มเห็นคนขายออกมาหน้ากล้องกันมากขึ้น มีแฟลตฟอร์ม Live สดเกิดขึ้น สร้างช่องจนมีผู้ติดตาม มีแฟนคลับเป็นลูกค้า ซึ่งปัจจุบันก็ยังเห็นแบบนี้อยู่ แต่ว่ามันเยอะขึ้นมาก จนเข้ามาสู่ยุคถัดไป

4. ยุค Information Overload

ยุคนี้ที่เรียกว่าเป็น Big Data อย่างแท้จริง มีแต่ข้อมูลเต็มไปหมด สินค้าและบริการก็มีมากมายจนเปลี่ยนแบรนด์ เปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนร้านค้าได้สารพัด มีแฟลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์ที่ทันสมัยขึ้น และการจ่ายเงินที่สะดวกสบาย ว่ากันตามตรงคนอายุ 70 กว่า ๆ ก็ซื้อของได้ง่ายเช่นกัน 

ลูกค้าดูไม่ออกว่า อะไรเหมาะ/ไม่เหมาะ, ใช่/ไม่ใช่ บางทีแค่พูดลอยๆ ว่าอยากกินไก่ทอด เลื่อน ๆ นิ้วก็เจอโปร KFC ส่งมาที่ฟีด หรือแค่พูดกับสามีว่าอยากมีลูก ก็เจอคลินิกฝากไข่ เจอโปรทำอิ๊กซี่ขึ้นมาให้เลือกไปหมด จะเลือกอะไรล่ะทีนี้ เรียกว่ายุคนี้สินค้าและบริการเยอะ คู่แข่งเยอะ ลูกค้าก็ตัดสินใจไม่ถูก อะไรดีนะถึงจะเหมาะสมกับเราในเวลานี้ ตอนนี้จริง ๆ

5. Insightist™ Business

ยุคที่ต้องค้นหาทางรอดของการทำธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจไม่มีวันตาย นั่นคือการดูแลลูกค้าที่มีอยู่ในมือ ตอบโจทย์ให้ได้ ตอนนี้ลูกค้าต้องการอะไรกันแน่ ไม่ใช่การยึดติดที่ตัวสินค้าหรือบริการ แต่ให้ยึดจากลูกค้าเป็นหลัก กล้าเปลี่ยนสินค้า กล้าเปลี่ยนบริการ เปลี่ยนกรอบความคิดเดิม ๆ เพื่อเจอมิติใหม่ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง และเมื่อเปลี่ยนแล้วธรุกิจคุณจะไม่เหมือนใครในตลาด ใช่แล้ว!! นี่คือการสร้างลูกค้าจากฐานลูกค้าเดิม

ทุก ๆ ยุคของการเปลี่ยนผ่าน มีธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่และธุรกิจที่ล้มตายนับไม่ถ้วน เพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน ความต้องการเปลี่ยน และช่องทางการขายก็เปลี่ยน อย่าคิดที่จะขายแต่สินค้าเดิม ๆ อย่าคิดที่จะขายในช่องทางเดิม ๆ พื้นที่เดิม ๆ หรือหาแต่ลูกค้าใหม่ตลอดเวลา มันเหนื่อยและเสียพลังอย่างมาก แต่ให้ค้นหาว่าใครคือลูกค้าที่แท้จริงของเรา แล้วเขาต้องการอะไรจากคุณ หากเราตอบสนองความต้องการของเขาได้ ธุรกิจคุณจะไม่มีวันตายและอยู่รอดไปอีกนาน